7 ขั้นตอนการเขียนบทความ seo

สายคอนเทนต์ห้ามพลาด ! กับ 7 ขั้นตอนการเขียนบทความ SEO อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

ถึงแม้ว่า Search engine optimization หรือ SEO จะเป็นสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมา แต่ก็มีรายละเอียดที่มากกว่าการเขียนคอนเทนต์ทั่วไป ซึ่งนี่แหละ คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้บทความปรากฏขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ในหน้าการค้นหา

เมื่อพูดแบบนี้หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แล้วการเขียนบทความ SEO มันคืออะไร ไปเกี่ยวข้องกับเครื่องมือค้นได้อย่างไร รวมถึงมีเทคนิคที่ช่วยให้ติดอันดับดี ๆ อยู่หรือไม่ วันนี้เราได้นำแนวทางการเขียนแบบ Step by Step ให้ถูกใจทั้งผู้อ่าน และระบบของ Google มาฝากกันตามหัวข้อด้านล่างนี้

การเขียนบทความ SEO คืออะไร ?

อธิบายแบบเข้าใจง่าย คือการเขียนเนื้อหาโดยมีจุดประสงค์ให้บทความติดอันดับหน้าแรกบนเครื่องมือค้นหา เช่น Google ซึ่งการทำควรเริ่มจาก 3 สิ่งนี้ก่อน ได้แก่

  1. รู้ว่าผู้คนต้องการค้นหาอะไร
  2. ค้นคว้า และวิจัยข้อมูลเพื่อนำเสนอคำตอบที่ดีที่สุดในขอบเขตของคำค้นหาที่กำหนด
  3. นำเสนอเนื้อหาที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และเข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่าน

นอกเหนือจากนี้ยังมีเรื่องพื้นฐานของ On-page SEO ที่ควรรู้ เช่น Meta Tags, การใส่ Alt text ในภาพ, การทำ Internal Link และอื่น ๆ ที่จะช่วยให้มาตรฐานบทความดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน

ทำไมการเขียนบทความ SEO ถึงสำคัญ ?

รู้หรือไม่ว่ามีคนใช้ Google ในการค้นหาข้อมูลมากถึง 3.5 พันล้านครั้งต่อวัน ซึ่งนั่นหมายความว่ากลุ่มเป้าหมายของเราต้องมีการใช้ Google อย่างแน่นอน และถ้าหากบทความของเราติดอันดับหน้าแรก ก็จะช่วยให้คนเห็นเว็บไซต์ของเรามากขึ้น เกิดการเข้าออกเป็นประจำ จนได้ Traffic เพิ่มอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

เนื่องจากปัจจุบันการมองเห็น หรือการเพิ่มการมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นทุกที บวกกับค่าโฆษณาที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น Organic Traffic หรือยอดเข้าชมเว็บไซต์ธรรมชาติจึงเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกธุรกิจ แล้วจะทำอย่างไรให้หน้าเว็บไซต์ของเราติดอันดับ มาดูไปพร้อมกันเลย

7 ขั้นตอนการเขียนบทความให้เหมาะสมสำหรับการค้นหา

ตรวจสอบคีย์เวิร์ดใน SERPs ก่อนทุกครั้ง

อย่างที่ได้บอกไปว่า การเขียนบทความ SEO จำเป็นต้องดู Search intent หรือรู้จุดประสงค์ของผู้ใช้งานก่อนว่าต้องการค้นหาไปเพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “ร้านอาหารใกล้ฉัน” ก็เป็นการแสดงถึงเจตนาว่าต้องการค้นหาร้านอาหารดี ๆ ที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งของตนเอง ซึ่งฟังดูอาจเป็นเรื่องง่ายเพียงเพิ่มคำที่คนส่วนใหญ่สนใจเข้าไป แต่ความจริงเวลาทำมักเกิดข้อผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่ว่าหน้าเว็บนั้นจะทำคอนเทนต์ออกมาดีแค่ไหน สุดท้ายก็จะหมดโอกาสในการติดอันดับไปเลย

สมมุติว่ามีการกำหนดคีย์หลักเป็น “ไอเดียการจัดเก็บรถ RV” แว็บแรกคนส่วนใหญ่มักคิดว่าคีย์เวิร์ดนี้จะสื่อไปถึงการค้นหาไอเดียในการจัดเก็บรถ RV เวลาที่ไม่ได้ใช้งาน แต่กลายเป็นว่าผิด เพราะผลการค้นหาอันดับต้น ๆ ทั้งหมดของคีย์เวิร์ดนี้กลับเป็นคำแนะนำในการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บในรถ RV หรือรถบ้านซะงั้น ไม่ใช่การเพิ่มพื้นที่จัดเก็บรถ RV อย่างที่คิดกัน

example of searching result of rv storage idea

ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่ควรจะตรวจสอบคีย์เวิร์ดใน SERPs หรือผลลัพธ์การค้นหาให้ดีก่อนลงมือเขียนบทความจริง ซึ่งทำได้ง่ายผ่าน Ahrefs Keyword Explorer หรือจะลองพิมพ์คีย์เวิร์ดแล้วไปค้นหาเองใน Google เองก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในขั้นตอนการค้นหาคีย์เวิร์ด ก็ควรดูที่ Featured Snippets หรือผลการค้นหาอันดับ 0 ที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมปรากฏขึ้นด้านบนสุดในหน้าการค้นหาด้วย โดยจะเป็นตัวอย่างข้อมูลที่ Google นำมาจากหน้าเว็บที่มีการจัดอันดับ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงเนื้อหาโดยอ้างอิงจากตัวอย่างที่ยกขึ้นมาได้ จึงจัดเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบทความ นอกเหนือจากการเลือกใช้คีย์เวิร์ดมาแข่งกัน และทำให้เว็บติดอันดับได้เร็วยิ่งขึ้น

example of featured snippets

โดยวิธีค้นหา Featured Snippets ที่ง่ายที่สุด คือการดูผ่าน Ahrefs Keyword Explorer เพียงแค่พิมพ์คีย์เวิร์ดที่ต้องการลงไป แล้วคลิกเลือกที่แถบ Dropdowns “SERPs Feature” หลังจากนั้นติ๊กเลือกไปที่ Snippets และกด Apply ได้เลย ซึ่งผลการค้นหาก็จะขึ้นมาให้แต่ที่คีย์เวิร์ดมีการทำ Featured Snippets เท่านั้น

example of keywords in featured snippets

วาง Outline

หนึ่งในขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงช่วยให้เขียนได้เร็ว และแม่นยำขึ้น แต่ยังสามารถควบคุมคุณภาพของบทความได้ดีอีกด้วย ซึ่งทำได้โดยการจดไอเดียหัวข้อหลัก และหัวข้อย่อยแต่ละอันไว้ รวมถึงเป้าหมาย และมุมมองต่าง ๆ ที่อยากพูดถึงในบทความ โดยมีตัวอย่างการทำคร่าว ๆ ดังนี้

example of doing an outline

เขียน Draft

บทความที่ดีส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการเขียนแบบร่าง เพราะในกระบวนการร่างจะช่วยให้เราตกผลึกไอเดีย และเขียนบทความได้ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถปรับแต่ง และลบหัวข้อที่ไม่ต้องการออกไปได้ก่อนทำจริง ซึ่ง Google Doc ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการเขียนดราฟท์ เนื่องจากมีฟังก์ชันการโต้ตอบ และคอมเมนต์ ที่สามารถโน้ตประเด็น หรือไฮไลต์ข้อความที่สำคัญได้ดี อีกทั้งยังสามารถใช้สื่อสารกับนักเขียนคนอื่นที่อยู่ในชีทเดียวกันได้

example of draft in google doc

โดยในแบบร่างยังไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องถูกต้อง หรือหลักภาษามากมาย เพียงเขียนสิ่งที่ต้องการลงไป แล้วค่อยมาปรับแก้ทีหลังได้เลย ซึ่งการเขียนใหม่อีกรอบก็ช่วยให้สามารถเกลาภาษาที่ใช้ได้ดีขึ้นอีกด้วย

ดูผลตอบรับ และรีวิวแบบร่างที่เขียนไปอีกครั้ง

การส่งให้คนอื่นช่วยรีวิวเนื้อหาจัดเป็นอีกหนึ่งความคิดที่ดี เพราะไม่เพียงช่วยให้สามารถรับรู้ความเห็นของผู้อ่านที่รู้สึกต่อบทความของเราได้จริง ๆ แต่ยังได้มุมมอง รวมถึงไอเดียใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ ซึ่งบางอย่างก็เป็นข้อมูลที่หาไม่ได้ใน Google อีกด้วย

แก้ไข และจัดรูปแบบให้เหมาะสม

ถึงช่วงเวลาที่ต้องตรวจสอบบทความกันแล้ว ซึ่งเป้าหมายของการทำบทความ คือการให้ข้อมูลที่ดีที่สุด โดยใช้คำให้น้อยที่สุด และจัดวางออกมาในรูปแบบที่อ่านง่าย จึงสามารถตั้งคำถามกับตัวเองได้ดังนี้

  • เนื้อหาที่นำมาเขียน คือข้อมูลที่ค้นหามาดีที่สุดแล้วหรือไม่ ?
  • อ่านแล้วเข้าใจง่ายหรือเปล่า ?
  • สำหรับคนมีเวลาน้อย ถ้ามาอ่านแบบผ่านตา จะได้รับคำตอบในเรื่องที่ต้องการหรือไม่ ?

สำหรับการจัดระเบียบบทความที่ดี คือต้องขึ้นต้นด้วยหัวเรื่อง และตามด้วยหัวข้อย่อยในลำดับถัดมา อาจใช้ตัวหนา หรือตัวเอียงเพื่อเน้นประเด็นสำคัญให้โดดเด่นขึ้นมาได้ และตัดแบ่งความยาวของประโยคเพื่อความสบายตา และน่าอ่านมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ซับซ้อนจนเกินไป เพราะอาจทำให้บทความอ่านแล้วเข้าใจยาก แต่ก็สามารถใช้ศัพท์เฉพาะได้ในบางกรณีที่ไม่สามารถอธิบายไปในทิศทางอื่นได้แล้ว

อีกหนึ่งเทคนิคคือ ระหว่างที่แก้ไขบทความ ควรลองอ่านออกเสียงตามไปด้วย เพื่อดูว่าเนื้อหาอ่านได้ลื่นไหลดีหรือไม่ หากเจอส่วนไหนที่อ่านแล้วรู้สึกติด หรือน่าเบื่อ เนื่องจากคำซ้ำ หรือการใช้คำที่ไม่สละสลวยก็ควรปรับแก้ทันที

เพิ่มเติมในส่วนของไวยากรณ์ หากเขียนใน Google doc จะมีฟังก์ชันตรวจสอบไวยากรณ์ และคำสะกดผิดแบบอัตโนมัติอยู่ด้วย ซึ่งใช้งานได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เรียกว่ามีประโยชน์มาก ๆ ในการรีวิว และแก้ไขบทความ ใครที่ต้องเขียนบทความบ่อย ๆ สามารถไปลองใช้กันได้เลย

example of google doc grammar check

ใส่องค์ประกอบต่าง ๆ ของการเขียน SEO และเผยแพร่

หลังจากได้บทความที่ดีจากขั้นตอนด้านบนแล้ว ต่อไปจะเป็นการเติมองค์ประกอบเข้าไปอีกนิดหน่อยเพื่อให้หน้าเว็บติดอันดับง่ายขึ้น ซึ่งหมายถึงการปรับ On-page SEO ที่ได้พูดถึงไปในช่วงต้นนั่นเอง โดยประกอบไปด้วย

  • Title
  • Meta Description
  • Open Graph
  • URL Slug
  • หมวดหมู่โพสต์ หรือเพจ
  • Alt Text
  • และอื่น ๆ

ซึ่งทุกเว็บไซต์มักมีการใช้เครื่องมือช่วยปรับ และตั้งค่าเพจ โดยตัวที่ใช้กันส่วนใหญ่จะเป็น WordPress และปลั๊กอินต่าง ๆ เช่น SEOPress ที่ช่วยให้การเซตองค์ประกอบต่าง ๆ ลงไปทำได้ง่ายขึ้น

example of title and meta description setting

อย่างไรก็ตามระบบจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ หรือ CMS ส่วนใหญ่ก็มีปลั๊กอิน หรือระบบตั้งค่าที่สามารถอัปโหลดข้อมูลเหล่านี้ลงไปได้อยู่แล้ว แต่ถ้าตัวที่ใช้อยู่ไม่มี ก็อาจจะลองเปลี่ยนไปใช้ตัวอื่นที่มีดูก็ได้

ใส่ Internal Link

หลังจากโพสต์คอนเทนต์ไปแล้ว ควรเพิ่ม Internal Link จากหน้าอื่นลงในบทความที่อัปโหลดใหม่เสมอ เพื่อนำทางให้ตัว Search Engine ผ่านมาเจอบทความของเราง่ายขึ้น และเข้าใจว่าเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไร หลังจากนั้นจะได้นำไปประมวลผล และจัดเก็บข้อมูลอย่างเหมาะสม โดยในบทความใหม่ แนะนำว่าควรใส่ Internal Link อย่างน้อย 3 – 5 อัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีจำนวนหน้าเว็บอยู่เท่าไหร่ด้วย

ซึ่งวิธีการตรวจสอบ Internal Link ที่รวดเร็วที่สุด คือการใช้ Google Search Operator โดยสามารถพิมพ์ “site:yoursitehere.com [related keyword here]” ลงใน Google ได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการค้นหา Internal Link สำหรับคำว่า “SEO Writing” ก็สามารถพิมพ์ “site:ahrefs.com SEO writing” ลงไป หลังจากนั้นก็จะมีหน้าเว็บที่ประกอบด้วยคำที่เกี่ยวข้องขึ้นมามากมาย ลองเลื่อนดูแล้วเลือกอันที่ถูกใจเพื่อเพิ่มลงไปในบทความได้เลย

example of finding external linking opportunities

แต่ถ้าหากลองแล้วยังไม่ปรากฏผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องมากพอ ก็สามารถค้นหาแบบเจาะลึกยิ่งขึ้นโดยการใส่ Keyword ลงไปในเครื่องหมายคำพูด ยกตัวอย่างเช่น site:ahrefs.com “SEO writing” เป็นต้น

example of extra finding external linking opportunities for seo writing keyword

สรุป

การเขียนบทความ SEO มีจุดมุ่งหมายคือ การนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์ ตอบโจทย์ และเข้าใจง่ายสำหรับผู้ค้นหา ซึ่งตราบใดที่เราเข้าใจหลักการทำงานของขั้นตอนในการเขียนบทความ SEO ก็จะสามารถเขียนบทความที่ดีออกมาได้ไม่ยากเลย พร้อมเปลี่ยนจากมือใหม่หัดเขียนกลายเป็นนักเขียนขั้นเทพ สามารถเรียบเรียงเรื่องราว และสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจแก่ผู้อ่านได้ไม่ยาก

ใครที่อยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ SEO สามารถตามอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ : https://thekalling.com/tkl-blog/