how to professional in e-commerce seo

ส่งมือใหม่สู่มือโปร รู้ลึก E-commerce SEO ฉบับปี 2023

หากต้องการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาร้านค้าออนไลน์ของเรามากขึ้น การทำ E-commerce SEO อาจเป็นใบเบิกทางที่ดี ลองอ่านบทความนี้ดูแล้วจะรู้ว่ามันคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะเชี่ยวชาญในเรื่องนี้

สารบัญ

E-commerce SEO คืออะไร ?

E-commerce SEO คือการปรับปรุงประสิทธิภาพหน้าร้านออนไลน์เพื่อเปิดการมองเห็น และทำให้เว็บไซต์ติดอันดับดีขึ้นบนเครื่องมือค้นหา เช่น Google โดยจะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพของหมวดหมู่ และหน้าผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะทำกำไรให้เราได้มากที่สุด

E-commerce SEO is about ranking product and category pages higher

โดยถือว่าเป็นวิธีการเข้าถึงลูกค้าที่ค่อนข้างคุ้มค่ากว่าการประมูล หรือเสนอราคาเพื่อโปรโมตคีย์เวิร์ดผ่าน Ads ที่ค่อนข้างแพง

บทที่ 1 Technical SEO

Technical SEO อาจดูเป็นจุดเริ่มต้นที่ค่อนข้างยาก และน่ากลัว แต่ก็จัดเป็นส่วนสำคัญสำหรับเว็บไซต์ E-commerce ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มักมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ Faceted Navigation ซึ่งเป็นรูปแบบ UX ที่ช่วยในการค้นหารายการเฉพาะหมวดหมู่ ที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่าการค้นหาแบบประกอบ หรือตัวกรอง นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึงด้วย แต่เราจะผ่านความยากนี้ไปด้วยกัน

รักษาความปลอดภัยของเว็บไซต์ด้วย HTTPS

HTTPS คือมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างเว็บไซต์ และผู้เยี่ยมชม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้แฮ็กเกอร์ขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนจากลูกค้าที่จำเป็นต้องแชร์ข้อมูลกับร้านค้าออนไลน์ เช่น ชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดบัตรเครดิตไปได้นั่นเอง

นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยรองในการจัดอันดับของ Google นับตั้งแต่ปี 2014 ด้วย

โดยสามารถรู้ได้ว่าร้านกำลังใช้ HTTPS อยู่หรือไม่ จากไอค่อน “แม่กุญแจ” ในแถบดังรูป

HTTPS lock

ซึ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมส่วนใหญ่มักมีการใช้ HTTPS อยู่แล้ว จึงไม่น่ากังวลมากนัก แต่หากเว็บไซต์ไหนที่ไม่มี ก็ควรรีบแก้ไขทันที

ทำให้โครงสร้างเว็บไซต์เข้าใจ และใช้งานง่าย

โครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure คือวิธีที่เราจัดระเบียบ และเชื่อมโยงหน้าเว็บต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยหน้าเว็บอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่มักมีการจัดระเบียบหน้าเว็บเป็นดังนี้

structure E-commerce Sites

ด้านล่างนี้ คือเหตุผล 2 ประการที่บอกว่าทำไมโครงสร้างนี้ถึงสมเหตุสมผล

  • ใช้งานง่าย – ผู้เยี่ยมชมสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการได้ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง
  • ช่วยให้ Google หาเว็บไซต์ของเราเจอ – จากการติดตาม Internal Links ที่เชื่อมโยงภายในจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่ง

ซึ่งการจัดระเบียบที่ดีมาตั้งแต่ต้น จะช่วยลดความน่าปวดหัวเมื่อต้องทำการออกแบบใหม่ในภายหลังอีกด้วย

เมื่อพูดถึง Internal Links วิธีที่ดีที่สุด คือทำความเข้าใจกับมันให้ง่ายที่สุด ซึ่งสามารถหาอ่านข้อมูลได้จากลิงก์ที่แนบมาให้เพื่อเป็นแนวทางเริ่มต้นสำหรับการเชื่อมโยงเว็บได้เลย ยกตัวอย่างเช่น หน้าหลักของเราควรมีการเชื่อมโยงไปยังหน้าหมวดหมู่ต่าง ๆ และควรเชื่อมโยงต่อไปยังหมวดหมู่ย่อยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง

เลือกใช้ฟิลเตอร์ที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ติดอันดับ

การค้นหาแบบประกอบ (Faceted navigation) หรือฟิลเตอร์ จะช่วยให้ผู้เยี่ยมชมสามารถกรองผลิตภัณฑ์ตามหมวดหมู่ และหมวดหมู่ย่อยที่ต้องการได้ โดยนี่คือตัวอย่าง

example of faceted navigation

แต่ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับลูกค้าที่เข้ามา แต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหา SEO อย่างร้ายแรงสำหรับเว็บไซต์ได้ เนื่องจากชุดตัวกรอง หรือฟิลเตอร์มักจะสร้าง URL ทีกำหนดพารามิเตอร์ขึ้นมาใหม่

ยกตัวอย่างเช่น หากเลือกตัวกรองหูฟังเฉพาะชนิดใส่หู ก็อาจมีการสร้าง URL ในลักษณะนี้

/headphones/?color=red&brand=sony&type=wired

ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะมีตัวกรองเพียงไม่กี่อัน แต่ก็อาจเกิดการรวมกันจนกลายเป็นมีนับพันได้ ซึ่งหมายความว่าเราจะมี URL ใหม่หลายพันรายการที่ Google สามารถรวบรวมข้อมูลไปจัดทำดัชนี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้

  • ศักยภาพในการจัดอันดับของหน้าเว็บหลักอ่อนแอลง – เนื่องจากการใช้ตัวกรองร่วมกันมักนำไปสู่การสร้าง URL หลายรายการที่มีเนื้อหาเดียวกัน เว้นแต่ว่า Google จะสังเกต และตระหนักถึงสิ่งนี้ ซึ่งไม่เกิดขึ้นทุกครั้ง และทำให้สัญญาณการจัดอันดับถูกแบ่งออกจากหน้าที่ซ้ำกันนั่นเอง
  • ขัดขวาง Google ในการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ – Google จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการเก็บรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์ ดังนั้นหากมีจำนวนข้อมูลที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ก็อาจไม่เหลือทรัพยากรที่สามารถรวบรวมข้อมูลจากหน้าหลักที่สำคัญของเราได้ทั้งหมด

ถึงอย่างนั้นก็มีวิธีแก้ปัญหาอยู่หลายวิธี สำหรับผู้เริ่มต้น หรือผู้ที่เริ่มทำมาสักพัก จะมีตัวเลือกง่าย ๆ คือการกำหนดรูปแบบมาตรฐาน URL ให้แก่หมวดหมู่หลัก และหมวดหมู่ย่อยนั่นเอง

แต่ก็มีแพลตฟอร์ม E-commerce SEO บางแห่งที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ทันที มาลองตรวจสอบกันดูว่าเว็บไซต์ของเรามีปัญหาแบบที่ว่ามาหรือไม่ โดยการติดตั้ง Ahrefs SEO Toolbar และลองเข้าไปที่ URL ของฟิลเตอร์บางส่วน แล้วกดไปที่แถบ Indexability ถ้าหากในส่วนของ Canonical URL ไม่มีข้อมูลประกอบอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มว่าลิงก์นี้ไม่ได้เป็นปัญหาต่อเว็บไซต์ของเรา โดยนี่คือตัวอย่าง

checking canonical URL

บทที่ 2 การค้นคว้าคีย์เวิร์ด

การค้นหาคีย์เวิร์ด หรือ Keyword Research ช่วยให้เข้าใจว่าผู้คนใช้คำค้นหาว่าอะไรเกี่ยวกับสินค้าของเรา ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อสร้างหมวดหมู่ หรือหน้าสินค้าที่เหมาะสมให้ตรงกับความต้องการขึ้นมาได้ มาดูกันว่ามีวิธีการทำอย่างไร

ค้นหาคีย์เวิร์ดสำหรับทำหมวดหมู่ย่อย

หน้าหมวดหมู่ย่อยจะแสดงประเภทของสินค้าในหมวดหมู่หลักที่เราขาย ยกตัวอย่างเช่น หมวดหมู่ “หูฟัง” ก็อาจจะมีหมวดหมู่ย่อยเป็น “มีสาย” หรือ “ไร้สาย” เป็นต้น

บางทีเราอาจจะรู้คีย์เวิร์ดหมวดหมู่ย่อยที่เหมาะกับร้านของตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อผู้คนมีการค้นหาด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย บางครั้งการสร้างหมวดหมู่ย่อยขึ้นมาจากการค้นคว้า และสอดคล้องกับคำเหล่านั้น ก็เป็นประโยชน์ต่อการทำ SEO ได้

ต่อไปคือวิธีการค้นหาคีย์เวิร์ดเพื่อนำมาทำหมวดหมู่ย่อย บน Keyword Explorer ของ Ahrefs

  1. ใส่หลักคำหลัก หรือคีย์เวิร์ดกว้าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหมวดสินค้าของเราลงไป
  2. ไปที่รายงานผลของ Matching terms
  3. มองหาคำที่ตรงกับสินค้าที่ขาย

นี่คือไอเดียสำหรับการค้นหาคีย์เวิร์ดสำหรับหมวดหมู่ย่อยของสินค้า “หูฟัง”

ideas list about headphone

มีข้อควรรู้อย่างหนึ่งคือ สิ่งนี้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนการค้นหา หรือ Search Volume เพียงแค่เลือกคำที่คิดว่าเหมาะสมกับการนำมาทำหมวดหมู่ย่อยได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “หูฟังแบบเปิดของ audio technica” อาจไม่เหมาะนำมาทำเป็นหมวดหมู่ย่อย เนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงเกินไปนั่นเอง

ด้านล่างนี้ คือแผนผังสรุปสั้น ๆ ของการเลือกคำเพื่อนำมาทำหมวดหมู่ย่อย

how to choose E-commerce subcategories for SEO

ค้นหาคีย์เวิร์ดสำหรับทำหน้าสินค้า

การวิจัยคำหลักอาจไม่จำเป็นหากร้านของเราขายสินค้าแบรนด์ เนื่องจากผู้คนมักค้นหาสินค้าเหล่านี้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น มีการค้นหาเกี่ยวกับคำว่า “airpods pro” ประมาณ 622k ครั้งต่อเดือนที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา

overview of airpods pro keyword searching

หากเรากำลังขายสินค้าตัวนี้อยู่ล่ะก็ หน้าสินค้าของเราก็คงกำหนดคำหลักเป็น airpods pro อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแบรนด์ หรือไม่มีชื่อ การค้นหา และกำหนดเป้าหมายคีย์เวิร์ดก็จะจำเป็นขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายถึงผู้คนที่กำลังค้นหาให้มากขึ้นนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าร้านของเรากำลังขายสินค้าหูฟังรูปหูแมวอยู่ 1 คู่ นอกเสียจากว่าผู้คนจะค้นหาโดยใช้ชื่อแบรนด์ หรือรุ่นโดยตรง คำหลักที่เราควรกำหนดก็ควรที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้คนค้นหาจริง ๆ ไว้ก่อน นั่นก็คือ “หูฟังหูแมว” นั่นเอง

cat ear headphones overview

คำแนะนำ

ให้นึกถึงจุดประสงค์การค้นหา หรือ search intent ไว้ตลอดเวลาในขณะทำการค้นหาคีย์เวิร์ด หากผลการค้นหาหน้าเว็บติดอันดับของคีย์เวิร์ดนั้นออกมาเป็นหมวดหมู่หลักของหน้าเว็บอีคอมเมิร์ซทั้งหมด นั่นอาจแสดงให้เห็นว่าผู้คนต้องการตัวเลือกนั่นเอง ในกรณีนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการโฟกัสไปที่คีย์เวิร์ดของหน้าหมวดหมู่ย่อย หรือหน้าฟิลเตอร์ต่าง ๆ แทน

บทที่ 3 On-page SEO

On-page Seo คือกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพคอนเทนต์บนเว็บของเรา ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงทั้งเนื้อหาที่มองเห็น และโค้ดที่อยู่เบื้องหลัง มาดูข้อควรพิจารณา และการปรับประสิทธิภาพสำหรับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซกัน

ประหยัดเวลาด้วยการใช้เทมเพลต Title Tag, Meta Description และ H1

ร้านค้าอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่มีการใช้เทมเพลตสำหรับ Title tag และ Meta Description ทั้งนั้น โดยด้านล่างนี้คือตัวอย่าง

title tag and meta description template

การใช้เทมเพลตอาจเป็นเรื่องที่เหมาะสมเนื่องจากการเขียนเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกันเป็นพัน ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ และหมวดหมู่ต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โชคร้ายหน่อยที่การใช้เทมเพลตอาจทำให้คอนเทนต์ดูจืดชืด หรือไม่มีความแปลกใหม่ จึงไม่ดึงดูดการคลิกสักเท่าไหร่

ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการทำแบบผสมผสานโดยเลือกใช้เทมเพลตเดียวกันสำหรับหน้าเว็บส่วนใหญ่ แต่เลือกใช้แบบไม่ซ้ำใครให้กับเว็บไซต์จำนวนหนึ่งที่มียอดการค้นหามากที่สุดนั่นเอง

และวิธีการตรวจหาเว็บเพจที่มียอดการค้นหามากที่สุดบน Google Search Console มีดังนี้

  • ไปที่ผลการรายงานของ Search results
  • เลือกแท็บ “Page”
finding website with the most search results

หากไม่ได้ใช้งาน GSC หรือ Google Search Console ยังสามารถค้นหาค่าประเมินฟรีได้ที่ฟังก์ชัน Site Audit บน Ahrefs ด้วย บัญชี Ahrefs Webmaster Tool โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • เลือกไปที่ Site Audit
  • ไปยัง Page Explorer
  • ใส่ฟิลเตอร์ตัวกรองเฉพาะเว็บภายใน หรือ internal pages
  • จัดเรียงตามจำนวนการค้นหาออร์แกนิกจากมากไปน้อย
organic traffic in page explorer

สำหรับ H1 นั้นง่ายมาก แค่ใช้ตามชื่อหมวดหมู่ หรือผลิตภัณฑ์นั่นเอง

how to name H1

ใช้ URL ที่เรียบง่าย และสื่อถึงความหมาย

โดยนี่คือตัวอย่างเทมเพลตง่าย ๆ ที่ปรับใช้ได้ทั้งหมวดหมู่หลัก และหมวดหมู่ย่อย

domain.com/category/subcategory/

ยกตัวอย่าง หมวดหมู่หลัก และหมวดหมู่ย่อยบางส่วนของร้านเครื่องเสียง ที่เป็นไปตามเทมเพลตดังนี้

domain.com/headphones/ 

domain.com/headphones/wireless 

domain.com/headphones/wired 

domain.com/headphones/over-ear 

domain.com/headphones/in-ear

แต่มันอาจจะดูซับซ้อนขึ้นเล็กน้อยเมื่อเป็นในส่วนของผลิตภัณฑ์ โดยจะเขียนเป็นโครงสร้างดังนี้

domain.com/category/subcategory/product

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลิตภัณฑ์มักแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ จึงอาจทำให้เกิดเนื้อหาที่ซ้ำกัน หรืออีกแบบหนึ่งคือ อาจมีสินค้าชนิดเดียวกันจำหน่ายอยู่ในหลาย URL ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น  Airpods มีทั้งแบบไร้สาย และแบบ in-ear ดังนั้นจึงมี URL สองรายการดังนี้

domain.com/headphones/in-ear/airpods 

domain.com/headphones/wireless/airpods

ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยการใช้เทมเพลตสำหรับผลิตภัณฑ์อันนี้แทน

domain.com/product

เพิ่มคำอธิบายผลิตภัณฑ์ และหมวดหมู่ที่ไม่ซ้ำใครเพื่อช่วยเหลือผู้เยี่ยมชม และ Google

หน้าสินค้า หรือหมวดหมู่ส่วนใหญ่มักมีเนื้อหาน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด หรือแย่เสมอไป แต่การเพิ่มคำอธิบายที่ไม่เหมือนใครเข้าไป ก็จะช่วยให้ทั้ง Google และผู้เยี่ยมชมเข้าเว็บไซต์ของเราได้ดีขึ้นนั่นเอง

โดยมีเคล็ดลับบางประการในการทำ ดังนี้

  • เขียนให้สั้น กระชับ และสละสลวย
  • ตรวจสอบให้แน่ว่าสิ่งที่เขียนไปมีความหมาย และมีประโยชน์
  • ใส่คีย์เวิร์ดแบบยาว หรือ Long-tailed Keyword

หากต้องการค้นหาคีย์เวิร์ดแบบยาว หรือคำพ้องความหมายที่เหมือนกัน สามารถกรอกผลิตภัณฑ์ที่มีการแข่งขัน หรือหน้าหมวดหมู่สำหรับคีย์เวิร์ดที่ต้องการลงบน Site Explorer ของ Ahrefs แล้วลองตรวจสอบการจัดอันดับ 10 คำแรกสำหรับ Organic Keywords ได้เลย

organic keyword about 1-10 in site explorer

ยกตัวอย่างคำน่าสนใจที่ปรากฏผลลัพธ์อยู่บนเว็บไซต์อันดับสูงสุดของคีย์เวิร์ด “หูฟังไร้สาย” ได้แก่

  • หูฟังบลูทูธ
  • หูฟังไร้สาย
  • earbuds บลูทูธ

ซึ่งการเขียน หรือพูดถึงคำเหล่านี้ในคำอธิบายของเว็บไซต์นั้นเป็นเรื่องที่ง่าย อีกทั้งยังดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย

การสร้างลิงก์สำหรับร้านค้าออนไลน์อาจเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เนื่องจากโดยปกติแล้วหน้าเว็บที่ทำขึ้นจะเป็นการขายสินค้าทั้งนั้น ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อบุคคลอื่นที่จะลิงก์กลับมายังหน้าผลิตภัณฑ์ หรือหมวดหมู่เหล่านี้นั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังคงมีการทดลองที่ทำได้อยู่ 2 – 3 วิธีสำหรับการปรับใช้เพื่อรับลิงก์กลับมายังหน้าแรกของเราได้ โดยเทคนิคเหล่านั้นมีดังนี้

ใช้เทคนิคคำติชมผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอ

หากมีสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เราทำขายอยู่คนเดียว การใช้เทคนิค “คำติชม” นี้ อาจช่วยให้ได้รับการเสนอไปอยู่บนลิสต์สินค้าที่ดีที่สุดในหมวดหมู่นั้นเลยก็ได้

ซึ่งขั้นตอนการทำมีดังนี้

  1. ค้นหารายการยอดนิยมของผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด
  2. เสนอผลิตภัณฑ์ของเราให้แก่นักเขียนเพื่อแลกกับคำติชม
  3. ขอให้พวกเขารวมสินค้าของเราไว้ในลิสต์รายการ (หากพวกเขาชื่นชอบ)

เนื่องจากผู้เขียนแนวนี้ส่วนใหญ่มักลิงก์กลับไปยังเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์ที่ตัวเอากำลังนำเสนอ ซึ่งเป็นวิธีทางตรงที่จะช่วยให้หน้าหลักของเราได้รับการลิงก์กลับมานั่นเอง

หากต้องการค้นหารายการผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดโดยไม่รวมของตัวเอง ให้ลองค้นหาใน Google ว่า best[product category] -brandname

search result for best smart speaker sonos

เลือกใช้การค้นหาโดยชื่อ หรือ “in title” ใน Content Explorer บน Ahrefs เพื่อค้นหาสิ่งเดียวกัน แล้วใส่ตัวกรองเพื่อฟิลเตอร์หารายการยอดนิยม

in title function in content explorer

ยกตัวอย่างเช่น นี่คือรายการลำโพงอัจฉริยะที่ดีที่สุด โดยไม่มีการกล่าวถึงลำโพง Sonos แต่อย่างใดตามคำสั่งการค้นหาด้านบน

example of best smart speaker for the price

ซึ่งหาก Sonos ต้องการสร้างลิงก์เพิ่มเติมไปยังผลิตภัณฑ์ลำโพงหน้าใดหน้าหนึ่งของตัวเอง ก็สามารถทำการเสนอสินค้าฟรีไปยังผู้เขียน เพื่อแลกกับการเขียนฟีดแบค หรือคำติชม และถ้าหากผู้เขียนชื่นชอบมัน ก็อาจลองสอบถามดูได้ว่าพวกเขายินดีที่จะนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวลงบนโพสต์ของตัวเองหรือไม่

เคล็ดลับ

อย่ากำหนดจุดประสงค์อย่างชัดเจนเกินไปว่าเราต้องการส่งสินค้าตัวอย่างไปให้ผู้เขียนเพื่อแลกกับลิงก์ เพราะอาจถูกลงโทษ เนื่องจาก Google มองว่า “การแลกเปลี่ยนสินค้า หรือบริการใด ๆ เพื่อลิงก์” ถือเป็นการสแปมลิงก์ นั่นเอง

อ้างสิทธิ์การกล่าวถึงแบรนด์ที่ไม่เชื่อมโยงในรีวิว

การกล่าวถึง หรือ mentioned แบบไม่เชื่อมโยง คือการกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ หรือแบรนด์ของตัวเองโดยไม่ลิงก์กลับไปยังเว็บไซต์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสถานการณ์ และเป็นเนื้อหาที่ทำการลิงก์ได้ยาก เนื่องจากแทบไม่มีมุมการเสนอขายที่ชัดเจน หรือน่าดึงดูด

ยกตัวอย่างการกล่าวถึง Audio-Technica แบบไม่เชื่อมโยง

example of no links in audio technica keyword

จากตัวอย่างเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก เนื่องจากกรณีนี้ไม่มีเนื้อหา หรือมุมมองที่น่าสนใจอยู่เลย นั่นก็เป็นเพราะว่ามีการกล่าวถึงอยู่ในบทความเกี่ยวกับวงดนตรีที่ขายอุปกรณ์เพื่อหาทุนการศึกษาด้านดนตรีนั่นเอง ไม่ใช่การเขียนเนื้อหาเสนอขายแบบอีคอมเมิร์ซโดยตรง อีกทั้งยังไม่มีการเชื่อมโยงกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในเนื้อหาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่ามีคนเขียนถึงสินค้า และบริการของเราแต่ยังไม่ได้ทำการลิงก์มา การขอให้พวกเขาลองลิงก์กลับมาที่หน้าเว็บผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการเพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้เพิ่มเติมก็นับเป็นเรื่องที่มีความสมเหตุสมผล และค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว

โดยสามารถตามหาบทความ หรือบทวิจารณ์ที่ไม่มีการเชื่อมโยงกลับมาได้โดยการป้อนคำค้นหานี้ : Intitle:[your brand] review -outlinkdomain:[yoursite.com] -site:[yoursite.com ลงไปบนฟังก์ชัน Web Explorer ของ Ahrefs นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการค้นหาบทวิจารณ์ที่ไม่มีการลิงก์ หรือเชื่อมโยงกลับมาสำหรับ Audio-Technica สามารถป้อนคำค้นหาว่า intitle:audio technica review -outlinkdomain:audio-technica.com -site:audio-technica.com ได้เลย

web explorer in ahrefs

ซึ่งก็คล้ายกับการรีวิวหน้าเว็บธรรมดาทั่วไป หากเจอก็อาจลองขอให้พวกเขาลิงก์กลับมายังเว็บไซต์หลักของเราเพื่อความเหมาะสมได้ โดยอาจไม่ได้มีนักเขียนที่ยินดีลิงก์กลับมาสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยเพิ่มลิงก์ให้กับหน้าสินค้าของเราได้

ใช้ Haro เพื่อรับลิงก์ที่มีอำนาจ และความน่าเชื่อถือสูง

HARO หรือ Help a Reporter Out คือบริการที่เชื่อมโยงนักเขียน และบล็อกเกอร์เข้ากับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยหากเราสมัครเป็นแหล่งที่มา HARO จะส่งอีเมลมาทุกวันพร้อมคำขอเหล่านี้

example of haro query email

กรณีนี้ บล็อกเกอร์ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับหูฟังสำนักงานที่ดีที่สุด

ซึ่งหากลองตรวจสอบเว็บไซต์ของนิตยสาร Welp จากภาพตัวอย่างเข้ากับ Site Explorer ดูจะเห็นว่า เป็นเว็บไซต์ที่มีระดับ DR 59 และจำนวนการเยี่ยมชมมากเลยทีเดียว ดังนั้นจึงคุ้มค่าที่จะตามลิงก์อย่างแน่นอน

overview of welpmagazine

ยิ่งไปกว่านั้น เรารู้อย่างแน่นอนว่าบล็อกเกอร์ที่ทำการส่งคำขอนี้จะทำการลิงก์เว็บของเราไปยังบล็อกที่พวกเขานำเสนออย่างแน่นอน เนื่องจากข้อความที่พิมพ์มาระบุไว้ดังนี้

the requirements in haro mail

ซึ่งเราอาจได้รับลิงก์จากเว็บไซต์นี้ โดยการส่งคำแนะนำตามที่บล็อกเกอร์ต้องการ พร้อมกับรายละเอียดต่าง ๆ กลับไปนั่นเอง

บทที่ 5 Content Marketing

การดึงดูดความสนใจของผู้ชม หรือลูกค้า คือสิ่งสำคัญต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณค่า และเกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถเปิดการมองเห็นให้ร้านค้าได้เพิ่มเติมจากการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และก่อให้เกิดยอดขายที่มากขึ้นอีกด้วย

ลองมาดูสิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ในการทำคอนเทนต์กัน

ค้นคีย์เวิร์ดทางการค้าเพื่อกำหนดเป้าหมายการโพสต์

คีย์เวิร์ดการค้า หมายถึงคำ หรือสิ่งที่ผู้คนมักค้นหาเมื่อต้องการซื้ออะไรสักอย่าง

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อค้นหาคำว่า “หูฟังไร้สายที่ดีที่สุด” บน Google นั่นก็แสดงถึงจุดประสงค์ว่าเราต้องการหาซื้อหูฟังดี ๆ สักอันนั่นเอง

ดังนั้นการระบุคำว่า “ดีที่สุด” ลงไป จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ในการเริ่มต้นค้นหาคีย์เวิร์ดเชิงพาณิชย์

โดยมีวิธีการดังนี้คือ

  1. ใส่คีย์เวิร์ดที่ต้องการลงไปบน Keyword Explorer
  2. เพิ่มตัวกรองรวมที่มีคำว่า best หรือดีที่สุด ลงไป
  3. เปิดใช้ฟิลเตอร์นั้น แล้วกดแสดงผล หรือ Show results ได้เลย
matching terms of wireless headphone keyword

จากการค้นหาจะเห็นได้ว่าบน Ahrefs มีคีย์เวิร์ดกว่า 9,396 คำที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้

นอกจากการค้นหาคำว่า “ดีที่สุด” แล้ว ยังสามารถรู้จุดประสงค์ทางการค้าได้จากคำถามแบบอื่น ๆ เช่น หากเราค้นหาว่า “หูฟังตัดเสียงรบกวนทำงานอย่างไร” นั่นก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่แสดงให้เห็นว่าเรามีความสนใจที่จะซื้อหูฟังสักอันเหมือนกัน

โดยต่อไปนี้ คือตัวอย่างเล็กน้อยของคีย์เวิร์ดที่ให้ข้อมูลสำหรับคำหลัก “หูฟังตัดเสียงรบกวน”

keyword that give information for noise cancelling headphones

นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสินค้าได้

ยกตัวอย่างเช่น คีย์เวิร์ด “วิธีทำความสะอาดหูฟังไร้สาย” อาจใช้งานไม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้อยู่ในกลุ่มลูกค้าใหม่ กลับกันคีย์เวิร์ด “วิธีซ่อมหูฟังเสีย” อาจได้ผลดีกว่า เพราะหูฟังเวลาพังจะซ่อมค่อนข้างยาก ดังนั้นการเลือกซื้อคู่ใหม่อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่หลายคนก็ยังคงต้องการที่จะลองซ่อมมันนั่นเอง

เมื่อเข้าใจเกี่ยวกับจุดประสงค์ และจิตวิทยาเบื้องต้นของคีย์เวิร์ดเชิงพาณิชย์แล้ว แสดงว่าเราพร้อมที่จะสร้างเนื้อหาในขั้นตอนถัดไป

สร้างเนื้อหาที่มุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดลูกค้า

เนื้อหาที่มุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์สื่อถึงการที่ลูกค้าสามารถใช้สินค้าของเราเพื่อแก้ปัญหาที่พบเจอได้ โดยสร้างสรรค์คอนเทนต์เกี่ยวกับคีย์เวิร์ดที่คนส่วนใหญ่กำลังสนใจ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าจากการค้นหาทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น บล็อกนี้มีการโพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับวิธีซ่อมหูฟังที่ดังข้างเดียว และได้รับยอดการเข้าชมต่อเดือนมากถึง 13.3k

overview of headphonesty

โดยเนื้อหาภายในจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายวิธีแก้ไขปัญหาทั่วไปก่อนที่จะเริ่มแนะนำหูฟังที่มีความทนทานสำหรับผู้อ่านที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

recommendation content in headphonesty

โดยถึงแม้ว่าบทความนี้จะเชื่อมโยงหน้าผลิตภัณฑ์ไปยัง Amazon แต่เราก็สามารถแนะนำ และลิงก์ไปยังหน้าผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้เช่นเดียวกัน

เพิ่มประสิทธิภาพของรูปผลิตภัณฑ์สำหรับการค้นหาเพื่อให้ได้รับการคลิกมากขึ้น

Google Image คือเครื่องมือค้นหาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยมีส่วนแบ่งมากกว่า 20% ของการค้นหาทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายกำลังค้นหาสินค้าของเรา ก็มีความเป็นไปได้ว่าที่พวกเขาจะค้นหา และดูจากรูปภาพผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองสนใจ

google image of headphone

หากต้องให้ภาพสินค้าของเราไปปรากฏอยู่บนอันดับต้น ๆ ของ Google Image ก็จำเป็นที่ต้องเริ่มการปรับปรุงประสิทธิภาพรูปอีคอมเมิร์ซสำหรับการทำ SEO เสียก่อน

โดยเริ่มจากการเพิ่มชื่อไฟล์ที่สื่อความหมายถึงภาพนั้น ๆ โดยใช้เครื่องหมายยัติภังค์คั่นระหว่างคำ ต้องตั้งชื่อไฟล์ให้ตรงประเด็น และอย่าลืมใส่คำหลักที่สำคัญลงไปด้วย ดังตัวอย่างในภาพ

file name of airpods

จากนั้นทำการเพิ่ม Alt text ลงไป โดยข้อความแสดงแทน หรือโค้ดจะมีลักษณะดังนี้

<img alt=”your alt text description goes here”>

ตัวอย่างเช่น สำหรับหูฟังเหล่านี้ Alt text อาจเป็น

<img alt=”Apple AirPods Max in silver”>

เคล็ดลับ

ในปัจจุบันระบบจัดการเนื้อหา (CMS) ส่วนใหญ่จะมีตัวเลือกในการเพิ่ม Alt text หรือข้อความแสดงแทนเมื่ออัปโหลดรูปภาพแล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขโค้ดด้วยตัวเองอีกต่อไป

ควรใส่ Alt text ให้มีความกระชับที่สุด โดยนี่คือตัวอย่างจากสินค้าหนึ่งของ Apple ที่มีการใช้ Alt text ว่า “มุมมองด้านหน้าของ AirPods Max สีเงิน”

example alt text of airpods

ถึงแม้ว่าหลักการใส่ Alt text จะเข้าใจง่าย แต่ก็ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ที่ลืมเพิ่มข้อความแสดงแทน หรือ Alt text นี้อยู่จำนวนไม่น้อย โดยวิธีอันรวดเร็วที่สามารถตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของเรามีการใส่ที่ครบหรือไม่โดยไม่เสียค่าใช้ สามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือ Ahrefs Webmaster Tools

เมื่อทำการรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์โดยใช้เครื่องมือแล้ว ให้ไปที่ภาพรวมของ Site Audit เพื่อดูว่ามีปัญหาใด ๆ หรือไม่

โดยนี่คือตัวอย่างของเว็บไซต์ที่มีรูปภาพจำนวน 2,712 รูป ที่ยังไม่มีการใส่ Alt text ลงไป

missing alt text images

ทำการคลิกไปที่ข้อความ “Missing alt text” หลังจากนั้นเครื่องมือจะพาไปยังหน้า URL ที่มีปัญหาทันที โดยสามารถจัดเรียงลำดับรายการได้โดยคลิกที่ “Organic traffic” เพื่อจัดลำดับความสำคัญของหน้าเว็บที่มียอดการค้นหาสูงก่อน

sort by organic traffic

หากหน้าเว็บไหนมียอดการเข้าชมออร์แกนิกที่ดีอยู่แล้ว นั่นอาจเป็นเพราะรูปภาพที่อยู่บนเว็บมีผลตอบรับที่ดีบน Google Image

เมื่อทำการปรับปรุงรูปภาพแล้ว เราสามารถตรวจสอบการคลิกที่ภาพนั้นได้รับได้ โดยกดไปที่ “Performance” แล้วเลือกประเภทการค้นหาเป็นรูปภาพนั่นเอง

performance of total clicks

บทที่ 6 เคล็ดลับ E-commerce SEO ขั้นสูง

ทุกเทคนิคที่กล่าวไปข้างต้นช่วยให้ร้านค้าของเราไปต่อได้ด้วยการทำ E-commerce SEO เเล้ว แต่จะมีเทคนิคขั้นสูงอะไรอีกบ้างที่จะช่วยให้ประสิทธิภาพต่าง ๆ ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งในแง่ของปริมาณการค้นหา และยอดขาย มาดูไปพร้อมกันเลย

จัดทำตัวชี้วัด URL ประกอบที่มีความต้องการในการค้นหาเพื่อให้ได้รับคลิกมากขึ้น

ผู้คนมักค้นหาผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นในระหว่างการค้นคว้าวิจัยคีย์เวิร์ดก็อาจพบคำหลักจำนวนมากที่ไม่เหมาะสำหรับการนำมาทำเป็นหมวดหมู่ย่อย แต่ถ้าหากเรามีฟังก์ชันระบบนำทางประกอบ หรือฟิลเตอร์บนร้านค้า ก็แสดงว่าอาจจะมี URL ที่กำหนดพารามิเตอร์เป้าหมายไปที่คำเหล่านี้อยู่หลายอันแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น มีการค้นหา “หูฟัง jabra แบบครอบหู” ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 150 ครั้งต่อเดือนดังภาพ

overview of jabra over ear headphones

ซึ่งหากเราขายผลิตภัณฑ์นี้แล้วปล่อยให้ผู้เยี่ยมชมฟิลเตอร์ และคัดกรองเองก็อาจจบลงที่ URL ในลักษณะนี้

/headphones?brand=jabra&design=over-ear

เนื่องจากร้านค้าอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่มักกำหนดรูปแบบ URL มาตรฐานเชิงประกอบให้แบ่งออกเป็นหมวดหมู่หลัก หรือหมวดหมู่ย่อย ดังนั้น URL จึงอาจจัดทำดัชนี หรือตัวชี้วัดไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยน Canonical ให้มีความอ้างอิงเฉพาะตัวได้

ดังนั้นหากทำแบบเดียวกันกับ URL เชิงประกอบ หรือฟิลเตอร์ทั้งหมดที่ลูกค้าต้องการค้นหา ก็อาจดึงดูด หรือเพิ่มปริมาณการค้นหาได้โดยไม่ต้องสร้างเนื้อหาใหม่ใด ๆ เลย

ด้านล่างนี้คือภาพสรุปจาก Aleyda Solis เพื่อช่วยให้เรารู้ว่าควรจัดทำดัชนีที่ฟิลเตอร์ หรือ URL เชิงประกอบรายการไหนบ้าง

how to choose which faceted URLs to index

เคล็ดลับ

หากสังเกตว่าผู้คนมีการค้นหาคุณลักษณะของสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เรายังไม่มีการจัดทำตัวกรอง ให้พิจารณาเพิ่มตัวกรองเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น มีการค้นหาหูฟังที่ใช้งานได้เข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย

example of keyword

ดังนั้นเราจึงสามารถเพิ่มฟิลเตอร์ หรือตัวกรอง “เข้ากันได้กับ” ลงไป และจัดทำดัชนี URL ประกอบที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดปริมาณการค้นหาจากคำเหล่านี้นั่นเอง

เพิ่ม Schema Markup ให้กับหน้าเว็บสินค้าเพื่อเพิ่มการแสดงผลตัวอย่างที่สมบูรณ์

Schema Markup คือโค้ดที่ช่วยให้เครื่องมือค้นหา หรือ Search Engine เข้าใจเว็บไซต์ของเรามากขึ้น และแสดงในผลการค้นหา ดังนั้นการเพิ่ม Schema Markup เข้าไปที่หน้าสินค้าจึงช่วยให้แสดงตัวอย่างผลการค้นหาอันดับ 0 หรือ snippets ได้มากขึ้นนั่นเอง

schema markup showing in search engine

โดยนี่คือตัวอย่างการทำ Schema Markup ของเว็บไซต์ขาย AirPods Pro

<script type=”application/ld+json”>

{

  “@context”: “https://schema.org/”, 

  “@type”: “Product”, 

  “name”: “AirPods Pro”,

  “image”: “”,

  “brand”: {

    “@type”: “Brand”,

    “name”: “Apple”

  },

  “offers”: {

    “@type”: “Offer”,

    “url”: “”,

    “priceCurrency”: “USD”,

    “price”: “249”,

    “availability”: “https://schema.org/InStock”,

    “itemCondition”: “https://schema.org/NewCondition”

  },

  “aggregateRating”: {

    “@type”: “AggregateRating”,

    “ratingValue”: “4.9”

  }

}

</script>

ซึ่งจะช่วยบอก Google ให้รู้จักชื่อสินค้า, แบรนด์, ราคา และคะแนนรีวิว รวมถึงสต๊อกที่ยังเหลืออยู่ด้วย

ลิงก์ไปยังหมวดหมู่ย่อยที่สำคัญเพื่อเน้นไฮไลท์ให้แก่ผู้เยี่ยมชม และ Google

การลิงก์ไปยังหมวดหมู่ย่อยที่สำคัญจากหมวดหมู่หลักของเราจะช่วยจัดลำดับลิงก์ที่ผู้เยี่ยมจะสนใจ และกดคลิกเข้าไปมากที่สุดได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถไปยังส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

โดยนี่คือตัวอย่างการเน้นหมวดหมู่ย่อยที่สำคัญใกล้กับด้านบนของหน้าหมวดหมู่

example of subcategories in website

การออกแบบนี้จะช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงหมวดหมู่ย่อยที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำหรับผู้คนที่ดูผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วย เนื่องจากไม่จำเป็นต้องนั่งเลื่อนดูผลิตภัณฑ์มากมายหลายพันรายการด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้อีกว่าตำแหน่งการจัดวางลิงก์ยังส่งผลต่ออำนาจของหน้าหมวดหมู่ย่อยเหล่านี้ด้วย โดยอ้างอิงจากรูปแบบเว็บไซต์ที่สมเหตุสมผลตามสิทธิบัตรของ Google

และด้านล่างนี้คือตัวอย่างภาพของเว็บไซต์ที่ผู้ค้าปลีกรายอื่นมีการลิงก์ไปยังหมวดหมู่ย่อยยอดนิยมที่อยู่ด้านบนสุดของหน้าหมวดหมู่

example of john lewis links to their subcategories

ตรวจสอบข้อผิดพลาดของ SEO เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเข้าชมที่ลดลง

รากฐาน SEO ที่มั่นคง ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาทั่วไปที่อาจรบกวนร้านค้าของเราได้ แต่การทำ SEO ไม่ใช่สิ่งที่ทำแบบครั้งเดียวจบ เพราะอาจมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการตรวจสอบประสิทธิภาพ SEO อย่างสม่ำเสมอ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การใช้งานฟังก์ชัน Site Audit ด้วยบัญชี Ahrefs Webmaster Tools สามารถทำได้ฟรี ซึ่งจะช่วยตรวจสอบปัญหาทั่วไปของ SEO ได้มากกว่า 100 แบบ รวมถึงปัญหาที่มักพบในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซด้วย เช่น เนื้อหาซ้ำ หรือหน้าเว็บที่ถูกละทิ้ง เป็นต้น

checking duplicate content

โดยสามารถกำหนดเวลาเพื่อรวบรวมข้อมูลรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนเพื่อตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ ได้

ข้อผิดพลาดในการทำ E-commerce SEO ที่ไม่ควรมองข้าม

ด้านล่างนี้คือตัวอย่างปัญหาบางส่วนที่ส่งผลต่อเว็บไซต์ และส่งผลต่อการจัดอันดับ

  • ไม่มีการใส่ breadcrumbs หรือ เครื่องมือที่ใช้นำทางในเว็บไซต์ – ซึ่งจะช่วยให้ผู้เยี่ยมชม และ Google รู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ที่ส่วนไหนของเว็บไซต์ ซึ่งมีประโยชน์สำหรับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซมาก
  • ลืมเพิ่ม Schema Markup – เพราะการเพิ่ม Schema จะช่วยให้เว็บไซต์สามารถแสดงตัวอย่างผลการค้นหาอันดับ 0 หรือ snippets ได้มากขึ้น
  • จัดทำดัชนีหน้าเว็บคุณภาพต่ำ – หมายถึงการจัดทำดัชนีตัวกรอง หรือหน้าการค้นหาที่ไม่เพิ่มมูลค่าใด ๆ ให้กับเว็บไซต์
  • การสแปมคีย์เวิร์ด – การใส่ หรือกล่าวถึงคีย์เวิร์ดบ่อยเกินไปไม่ส่งผลดีต่อ SEO และเว็บไซต์อย่างแน่นอน
  • เผลอบล็อกหน้าหลักเว็บไซต์ของตัวเอง – บางครั้ง Noindex หรือคำสั่ง “ไม่อนุญาต” ใน robots.txt อาจถูกเพิ่มเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งหมายความว่าหน้าที่ถูกบล็อกจะไม่แสดงอยู่บน Google นั่นเอง

อนาคตของ E-commerce SEO

ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่ชัดว่าอนาคตต่อไปของ E-commerce SEO จะเป็นอย่างไร ซึ่งด้านล่างนี้เป็นเพียงแนวคิดบางประการที่อยากมาแชร์ให้รู้กัน

เมื่อ Google เริ่มทำการรวม generative Ai เข้ากับการค้นหาเมื่อไหร่ ก็มีแนวโน้มว่าการค้นหา และ E-commerce SEO จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่แตกต่างจากที่เราเห็นในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างรูปลักษณ์ของ SERP จากการค้นหาในปัจจุบันของคีย์เวิร์ด “หูฟังบลูทูธ”

current SERP appearance for blutooth earbud

ต่อไปลองมาดูหน้าตาของ SERP สำหรับการค้นหาเดียวกัน ภายใต้ประสบการณ์การค้นหาจากการขับเคลื่อนด้วย Ai ของ Google ดู

generative ai SERP appearance

ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า Google สร้างหน้าหมวดหมู่บน SERP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความจริง ก็อาจเป็นไปได้ว่าอนาคตของ E-commerce SEO อาจจำเป็นต้องเบี่ยงความสนใจไปโฟกัสที่การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหน้าแสดงสินค้า หรือผลิตภัณฑ์มากขึ้นนั่นเอง

สรุป

การทำ E-commerce นั้นค่อนข้างห่างไกลจากคำว่าตรงไปตรงมา ถึงแม้ว่าจะสามารถเรียนพื้นฐานเพื่อจัดทำออกมาได้อย่างถูกต้อง แต่การลงมือทำจริงเพื่อตอบสนองความต้องการค้นหาที่ครอบคลุมของลูกค้าโดยหลีกเลี่ยงปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ ไปพร้อมกัน กลับเป็นเรื่องยากกว่าที่คิดนั่นเอง

ใครที่อยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ SEO สามารถตามอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ : https://thekalling.com/tkl-blog/