what are the differences between seo vs ppc

อธิบายชัด ! SEO vs PPC เหมือนหรือต่างกันอย่างไร พร้อมข้อดีข้อเสีย และวิธีเลือกใช้ที่ถูกต้อง

ความแตกต่างระหว่าง SEO vs PPC หรือการตลาดแบบจ่ายต่อคลิก (Pay-Per-Click) คือ SEO จะโฟกัสไปที่ปริมาณการเยี่ยมชมแบบ Organic จากการค้นหาทั่วไป ขณะที่ PPC จะเน้นที่ยอดเยี่ยมชมจากการโปรโมตที่เสียค่าใช้จ่ายแบบต่าง ๆ นั่นเอง

บทความนี้จะมาเล่าเกี่ยวกับวิธีตัดสินใจสำหรับการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ ตามหัวข้อด้านล่างดังนี้

SEO คืออะไร ?

SEO คือขั้นตอนการปรับปรุงเนื้อหาหน้าเว็บให้ถูกจัดอันดับบนเครื่องมือค้นหา หรือ Search Engine

two types of results in google

ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ 4 หัวข้อดังนี้

  • การค้นคว้าคีย์เวิร์ด (Keyword Research)
  • On-page SEO 
  • Off-page SEO
  • เทคนิค SEO

การค้นคว้าคีย์เวิร์ด (Keyword Research)

คือขั้นตอนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำ หรือประโยคที่กลุ่มเป้าหมายมักนำไปใช้สำหรับการค้นหาบน Search Engine ซึ่งสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วยได้ เช่น ฟังก์ชัน Keyword Explorer บน Ahref นั่นเอง

ยกตัวอย่างวิธีหาคีย์เวิร์ด สำหรับร้านค้าขายอุปกรณ์ทำกาแฟออนไลน์

  1. รวบรวมคำ และประโยคที่คิดว่าลูกค้าจะนำไปค้นหาใน Google
  2. ใส่คำเหล่านั้นลงบน Ahrefs
  3. ลองดูผลการค้นหาที่ Matching Terms
matching terms of keyword research method

On-page SEO

คือการทำคอนเทนต์ออกมาในรูปแบบที่ผู้ใช้ต้องการเห็น ซึ่งจะเกี่ยวกับกระบวนการหาคำตอบว่าทำไมผู้คนถึงตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า search intent หรือจุดประสงค์การค้นหา นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการค้นหาเกี่ยวกับ “วิธีการทำคีเฟอร์ หรือนมหมัก” จากผลลัพธ์การค้นหาทั่วไป ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการคำแนะนำขั้นตอน หรือวิธีการทำอย่างละเอียดนั่นเอง

result for searching how to make kefir

ในทางกลับกัน หากค้นหาคำว่า “รองเท้าบาสเกตบอล” ผลการค้นหาก็จะแสดงหน้าเว็บขายรองเท้าขึ้นมามากมายแทน

result of basketball shoes

จำไว้ว่า การรู้จุดประสงค์การค้นหา หรือ search intent คือเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้เราสามารถทำเนื้อหาออกมาได้สอดคล้องกับความต้องการ แต่ถึงอย่างนั้นการทำ SEO ก็ไม่ได้ดูจาก search intent เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • เทคนิคการวางคีย์เวิร์ด
  • การคิดชื่อหัวข้อที่น่าสนใจ
  • การใส่ลิงก์ทั้งแบบสั้น และยาว
  • การใส่ภาพ

Off-page SEO

คือสิ่งที่เราทำ หรือปรับปรุงภายนอกเว็บไซต์ เพื่อแสดงให้ Google เห็นว่าหน้าเว็บของเรามีประสิทธิภาพสำหรับการจัดอับดับ

หนึ่งในนั้นคือการทำ Backlink ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจาก Backlink คือหนึ่งในสามปัจจัยแรกสำหรับการจัดอันดับของ Google นั่นเอง ซึ่งจะคล้ายกับการได้รับการโหวตจากเว็บไซต์ภายนอก

links push webpages to the top

เราสามารถตรวจสอบได้ว่ามีหน้าเว็บไหนที่ลิงก์กลับมาหาเว็บไซต์ของเราบ้าง ผ่านเครื่องมือ Site Explorer บท Ahrefs ซึ่งใช้งานได้ฟรีผ่าน Ahrefs Webmaster Tools โดยสามารถใส่ลิงก์โดเมนของเราลงไปได้เลย แล้วดูที่ผลการรีพอร์ต Backlink

backlinks report in site explorer

นอกจากลิงก์แล้ว การทำ Off-page SEO ยังเกี่ยวข้องกับการรีวิว บทวิจารณ์ รวมถึงการอ้างอิงต่าง ๆ อีกด้วย

เทคนิค SEO

เทคนิค SEO คือสิ่งที่ใส่ลงไปเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือค้นหา หรือ Search Engine จะสามารถตรวจพบบทความของเรา และเก็บรวบรวมข้อมูลไปได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง ซึ่งสำคัญมาก เพราะถ้าหาก Search Engine หาคอนเทนต์ของเราไม่เจอ ก็จะไม่สามารถจัดอันดับได้

how to check can our website rank in organic search

ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำการบล็อกไม่ให้เครื่องมือค้นหารวบรวมข้อมูลของบทความที่กำหนด ก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่บทความนั้นจะติดอันดับ เนื่องจาก Google ไม่สามารถมองเห็น และเข้าใจสิ่งที่อยู่ในหน้านั้นได้ว่าเขียนเกี่ยวกับอะไร เป็นต้น

รวมข้อดี และข้อเสียของ SEO

ข้อดี

ยอดการค้นหาทั่วไปมีผลมาก

ตราบใดที่สามารถติดอันดับบน Google ด้วยคีย์เวิร์ดที่เลือกมาได้ ก็เปรียบเสมือนการการันตียอดเข้าชมที่สม่ำเสมอได้อย่างแน่นอน

ยกตัวอย่าง กราฟแสดงผลการเข้าชมแบบออร์แกนิกของบล็อก Ahrefs

performance of organic traffic

ตามหลักทฤษฎีแล้ว ยังสามารถหยุดเผยแพร่ได้ในระยะหนึ่ง แต่ปริมาณการเข้าชมก็ยังคงไหลต่อไปอย่างราบรื่นเหมือนเดิม

ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าในระยะยาว

ยกตัวอย่างบล็อกของ Ahrefs ที่ถูกจัดอันดับจากคีย์เวิร์ดมากกว่า 95,000 คำ และมียอดการเยี่ยมชมทั่วไปต่อเดือนประมาณ 419,000 ครั้ง

หากมีการซื้อ PPC เพื่อให้ได้ยอดการเข้าชมนี้มา เท่ากับว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 548,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือคิดเป็น 6.5 ล้านต่อปีเลยทีเดียว จึงสมเหตุสมผลที่จะบอกว่า การทำ SEO ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าในระยะยาว

overview of ahrefs blog

ข้อเสีย

SEO ต้องใช้เวลา

ในปี 2017 ได้มีการทดลองเพื่อดูว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ถึงจะติดอันดับบน Google แล้วค้นพบว่า มีจำนวนเว็บไซต์เพียง 22% ของหน้าเว็บที่ติด 10 อันดับแรกเท่านั้น ที่ได้รับการเผยแพร่ภายใน 1 ปี

how old are pages get ranking in google top 10

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำบทความ SEO จำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นหากต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วในระยะสั้น การทำ SEO ก็อาจไม่เหมาะนั่นเอง

ต้องการเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร

ลองจินตนาการดูว่าหากต้องการทำอาหารสักหนึ่งจาน เราจะไปหาความรู้จากใคร หากคนแรกสามารถสอนสูตรอาหารที่ทำออกมาได้เพอร์เฟค ขณะที่อีกคนให้นำวัตถุดิบมายำรวมกัน คงตัดสินใจได้ไม่ยากเลย

บนโลกออนไลน์ก็เหมือนกัน ผู้คนมักต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหัวข้อที่ค่อนข้างอ่อนไหวอย่าง เรื่องการเงิน และสุขภาพ ซึ่ง Google เรียกหัวข้อเหล่านี้ว่า Your Money or Your Life  (YMYL) ดังนั้นหากต้องการเขียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็ต้องพิสูจน์ว่าตนเองมีความรู้ และความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนจริง ๆ ไม่ใช่การคัดลอก หรือดูตัวอย่างจากแหล่งอื่น ๆ

หลายคีย์เวิร์ดมีการแข่งขันสูง

ลองดูตัวอย่างข้อมูลการค้นหาของคำหลัก “รองเท้าบาสเกตบอล”

serp overview for basketball shoes

จะเห็นว่า หากเราเป็นร้านขายรองเท้าบาสเกตบอลออนไลน์ที่เพิ่งเปิดใหม่ ก็จำเป็นต้องแข่งขันกับแบรนด์ที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการมาก่อน เช่น Nike, Dick’s Sporting Goods และ Foot Locker เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

ดังนั้นถึงแม้ว่าคีย์เวิร์ดนี้จะสำคัญ แต่ก็จะทำให้เสียทั้งเวลา และเงินทุนจำนวนมาก หากต้องการแข่งขัน จึงอาจมีความจำเป็นที่ต้องเริ่มจากจุดล่างสุด โดยเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่มีการแข่งขันน้อยเพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับง่าย หรือคำที่มีค่า KD ค่อนข้างต่ำ แล้วค่อย ๆ สร้างความน่าเชื่อถือไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

Pay-Per-Click หรือ PPC คืออะไร

คือรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาออนไลน์ ที่ผู้ลงโฆษณาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่มีคนกดคลิก ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด

google ad pay per click

ด้านล่างนี้คือหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา PCC สำหรับ Google Ads

  • การค้นคว้าคีย์เวิร์ด (Keyword Research)
  • เสนอราคาประมูล (Bid Setting) 
  • สร้างโฆษณา (Ad creation)
  • กำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Audience Targeting)

การค้นคว้าคีย์เวิร์ด

เหมือนกับการทำ SEO ซึ่งจำเป็นต้องหาคีย์เวิร์ดเพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการทำโฆษณา PPC เช่นเดียวกัน

ตั้งราคา (Bid Setting)

คือการตัดสินใจว่าต้องการจ่ายเท่าไหร่ให้กับ Google สำหรับการกดคลิกที่โฆษณา 1 ครั้ง หากคู่แข่งเสนอราคาที่สูงกว่า Google ก็อาจแสดงผลโฆษณาของเราน้อยลง ส่งผลให้อัตราคลิกน้อยตามไปด้วย

สร้างโฆษณา (Ad creation)

เป็นการตัดสินใจว่าโฆษณาที่ทำจะสื่อถึงอะไร และลิงก์ไปที่ไหน ยกตัวอย่างโฆษณานี้ที่เมื่อกดจะลิงก์ไปยังหน้าแรกของ Shopify

google ads creation for shopify

โฆษณาที่มีการปล่อยออกไปแล้วจะได้รับการประเมินจาก Google เพื่อบ่งบอกถึงประโยชน์ และความเกี่ยวข้องของ ads โดยทั่วไปหากมีคะแนนสูง ก็จะได้รับการมองเห็นมากยิ่งขึ้น และเสียเงินต่อคลิกน้อยลงอีกด้วย

กำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Audience Targeting)

คือการกำหนดว่าใครบ้างที่สามารถเห็นโฆษณาของเราได้ ซึ่งสามารถตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายโดยพิจารณาจากพวกเขาเป็นใคร สนใจเรื่องอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน และอื่น ๆ เป็นต้น

รวมข้อดี และข้อเสียของ PPC

ข้อดี

ทำได้รวดเร็ว

การโฆษณาแบบ PPC เรียกว่าคิดแล้วสามารถทำได้เลย โดยไปที่แพลตฟอร์มโฆษณาไหนก็ได้ แล้วเริ่มแคมเปญได้ทันที

กำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบละเอียดได้

แพลตฟอร์ม PPC ส่วนใหญ่จะสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน จากข้อมูลประชากร ภูมิศาสตร์ ความสนใจ และอื่น ๆ

ทดสอบผลลัพธ์ได้รวดเร็ว

เมื่อเปรียบเทียบกับการทำ SEO ที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะรู้ผล ธรรมชาติของการใช้งาน PPC คือฟีดแบคที่รวดเร็ว เนื่องจากสามารถตั้งค่าแคมเปญ และเริ่มทดสอบเพื่อติดตามผลได้เลย ว่าแบบไหนที่ได้ผล หรือไม่ได้ผล

ข้อเสีย

มีราคาแพง

หากอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เช่น ประกันภัย ก็อาจต้องเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อโปรโมตในระยะเวลาอันรวดเร็ว

pay per click quite expensive

ยกตัวอย่างเช่น อาจต้องเสีย 40 ดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ย หากต้องการทำโฆษณาเกี่ยวกับ “ประกันภัยรถยนต์”

การสูญเสียประสิทธิภาพ

Andrew Chen กล่าวไว้ว่า : ยิ่งแคมเปญถูกปล่อยออกมานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพน้อยลง เนื่องจากผู้คนจะเห็นโฆษณาบ่อย จนกลายเป็นเรื่องเก่าไป

ดังนั้นจึงควรรีเฟรชโฆษณาของเราอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อความบรรทัดแรก คำบรรยาย รูปภาพ และอื่น ๆ เพื่อให้โฆษณาทำงานได้ดีในระยะยาวนั่นเอง

จำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อหาเงิน

โฆษณา PPC จำเป็นต้องมีเงินทุนสำหรับการเริ่มทำ ซึ่งอาจสูญเสียไปในช่วงสองสามเดือนแรก เพื่อเรียนรู้วิธีการปรับปรุงโฆษณาที่ถูกต้อง

ระหว่าง SEO vs PPC อย่างไหนดีกว่ากัน ?

ต้องบอกก่อนว่าทั้งสองเครื่องมือนี้ ไม่ได้ดี หรือแย่ไปกว่ากัน แต่จะขึ้นอยู่กับการใช้งาน และสถานการณ์มากกว่า

สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรม

เพื่อให้ได้ยอดเข้าชมจากการค้นหาทั่วไป ก็อาจจำเป็นต้องกำหนดหัวข้อที่คนส่วนใหญ่มักค้นหากันอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเป็นบริษัทที่เพิ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ออกมาได้ไม่นาน ก็อาจจะไม่มีการพูดถึงเลยก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ลองย้อนกลับไปดู Uber ที่แทบไม่มีการค้นหาเกี่ยวกับ “บริการเรียกรถ” เลย จนกระทั่งบริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2009

google trend for uber

ดังนั้นสถานการณ์นี้ การโฆษณาโดยใช้ PPC อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อสร้างการรับรู้ในช่วงแรก

ช่วงเตรียมพร้อมเปิดตัว หรือมีข้อเสนอแบบครั้งเดียว

หากกำลังจัดกิจกรรมเปิดตัว หรือโปรโมตที่จัดขึ้นเพียงครั้งเดียว การใช้ PPC อาจดีกว่า เนื่องจากการทำบทความ SEO ต้องใช้เวลา ซึ่งกิจกรรมอาจจบก่อนที่หน้าเว็บจะได้รับการจัดอันดับด้วยซ้ำไป

เน้นทำคีย์เวิร์ดที่ให้ข้อมูล หรือสร้างเนื้อหาให้ติด Top

หากต้องการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับคีย์เวิร์ดที่ผู้คนค้นหาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่การซื้อผลิตภัณฑ์ PPC อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เนื่องจากคงมีเพียงไม่กี่คนที่จะเปลี่ยนใจเป็นลูกค้าในทันที ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้

ยกตัวอย่าง คีย์เวิร์ด “วิธีการทำซูเดิล” หรือเส้นพาสต้าสุขภาพ จะเห็นว่ามีการค้นหาเพียง 2,700 ครั้งต่อเดือน และมี CPC หรือต้นทุนต่อคลิกเพียง 0.35 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

keyword difficulty for how to make zoodles

แต่ถึงแม้ว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนคลิกได้ 100 ครั้งในราคาเพียง 35 ดอลลาร์ แต่ผู้คนที่ค้นหาส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพียงอยากรู้ว่าสามารถเปลี่ยนแตงกวาสดเป็นเส้นพาสต้าได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้ออะไรเลย จึงเป็นความคิดที่ดีกว่าในการสร้างเนื้อหาให้ความรู้ มากกว่าการโฆษณาในหัวข้อดังกล่าว

การโปรโมตเนื้อหาเชิงพาณิชย์

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักไม่ต้องการลิงก์ไปยังเนื้อหาเชิงพาณิชย์ เช่น หน้า Landing Page หรือหน้าผลิตภัณฑ์ ดังนั้นเพื่อให้อันดับสูงขึ้นในผลการค้นหาทั่วไป อาจต้องพิจารณาใช้กลยุทธ์คนกลาง หรือ middleman method มาช่วย โดยด้านล่างคือภาพบอกวิธีการทำงานเบื้องต้น

ดังนั้นหากต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็ว อาจพิจารณาใช้ PPC ได้ เนื่องจากสามารถเพิ่มปริมาณการเยี่ยมชมไปยังหน้า Landing Page ได้โดยตรง

มีงบประมาณ หรือเงินทุนน้อย

ในกรณีนี้มีทางเดียว คือทำบทความ SEO และ Content Marketing เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่แบรนด์ และเพิ่มยอดการเยี่ยมชมแบบทั่วไปเท่านั้น

เป็นนักลงทุนเว็บไซต์ (Website Flipper)

อ้างอิงจาก EmpireFlippers นี่คือสูตรสำหรับการประเมินค่าเว็บไซต์

empire flipper business valuation formula

ผู้ซื้อเว็บไซต์ส่วนมากมักชื่นชอบเว็บที่มีการทำ SEO มาก่อน เนื่องจากยอดการเยี่ยมชมแบบออร์แกนิก เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และมีเสถียรภาพในระยะยาว ดังนั้นการขายเว็บที่มีการทำ SEO มาแบบมั่นคง เปรียบเสมือนการบอกให้ผู้ซื้อรับรู้ว่า หน้าเว็บนี้ผ่านการดูแลมาอย่างดี และสิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไปมีเพียงการรักษาให้อยู่ระดับเดิมที่เคยทำมาเท่านั้น

ในทางกลับกัน หากเว็บไซต์นั้นอาศัยการทำ PPC ก็อาจจะยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากโฆษณาจำเป็นต้องมีการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพอยู่ตลอด อีกทั้งหากโฆษณาเสียหาย ก็อาจส่งผลให้ธุรกิจติดขัด หรือล้มละลายได้ในชั่วข้ามคืน

ดังนั้นสำหรับการซื้อขายเว็บไซต์ จะเป็นเรื่องดีกว่าหากโฟกัสไปที่การทำ SEO นั่นเอง

วิธีปรับใช้ทั้ง SEO และ PPC สำหรับธุรกิจ

ธุรกิจที่ดีจะรู้วิธีปรับใช้ทั้ง SEO และ PPC เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ย่อมต้องเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว

โดยมีวิธีการใช้งานคู่กันดังนี้

ใช้โฆษณา PPC เพื่อโปรโมตเนื้อหา

คอนเทนต์แต่ละชิ้นใช้เวลานานในการผลิต ซึ่งจะเสียเปล่า หากไม่มีใครเห็น ดังนั้นจึงควรลงโฆษณาเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงแค่ช่องทาง Facebook เท่านั้น

facebook ads for seo tips

แต่ควรโปรโมตผ่าน Twitter และ Quora รวมถึง Youtube ด้วย

กำหนดเป้าหมายใหม่

ช่วยให้สามารถกำหนดผู้เยี่ยมชมที่ออกจากเว็บไซต์ของเราได้ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสในการชักชวนผู้เยี่ยมชมให้กลับมา และพิจารณาซื้อสินค้าได้อีกครั้ง โดยมีกระบวนการทำงานดังนี้

  1. ผู้เยี่ยมชมค้นพบบทความของเราจากการค้นหาใน Google
  2. ตั้งค่าคุกกี้ในบราวเซอร์เพื่อช่วยให้เว็บไซต์สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ 
  3. ผู้ชมออกจากหน้าเว็บไป
  4. ขณะที่กำลังท่องเว็บไซต์ ก็จะมีการแสดงโฆษณาเพื่อชักชวนให้กลับเข้ามาชมเว็บไซต์อีกครั้ง จากการแจ้งเตือนให้ตรวจสอบข้อเสนอฟรี การทดลองใช้ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น

ติดตามคีย์เวิร์ดที่คู่แข่งมีการเสนอราคา

หากรู้ว่าคู่แข่งกำลังเสนอราคาให้กับคีย์เวิร์ดตัวไหนบน Google ads ก็จะได้ไอเดียคีย์เวิร์ดมากมาย รวมถึงยังติดตามคำเหล่านั้นผ่าน SEO หรือ PPC ได้อีกด้วย

ซึ่งมีวิธีคือ นำลิงก์โดเมนเว็บไซต์ของคู่แข่งมาวางบน Site Explorer ของ Ahrefs และไปยังหัวข้อ Paid keywords

following paid keywords

เพียงเท่านี้ก็จะสามารถเห็นคีย์เวิร์ดที่คู่แข่งกำลังใช้งานได้ทั้งหมด รวมถึงหน้า Landing Page ที่มีการลิงก์ไปถึง และข้อความโฆษณาที่ใช้อีกด้วย หลังจากนั้นก็สามารถพิจารณาเลือกคำที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับธุรกิจเพื่อนำมาปรับใช้ทำ SEO หรือ PPC ได้เลย

สรุป

คุณเห็นด้วยไหมว่าปลากับมันฝรั่งทอด ไวน์กับชีส และไก่ทอดเกาหลีกับเบียร์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดมาคู่กัน เหมือน SEO และ PPC ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำคู่กันเสมอ แน่นอนว่าจะขาดอะไรไปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรนำทั้งคู่มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการโฆษณาให้กับธุรกิจเพื่อให้ประสบความสำเร็จก้าวสู่จุดสูงสุดนั่นเอง

ใครที่อยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ SEO สามารถตามอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ : https://thekalling.com/tkl-blog/